ภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลงในปี พ.ศ.๒๔๘๘ ประเทศต่างๆในทุกภูมิภาคของโลกเกิดวิกฤติ ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม
และการเมือง อย่างรุนแรง รวมทั้งในพื้นที่ทวีปเอเชีย ได้เกิดปัญหาด้านการเมืองในอีกรูปแบบหนึ่งกล่าวคือ ประเทศจีนและประเทศรัสเซีย ซึ่งมีการปกครองประเทศในระบอบคอมมิวนิสต์ต้องการเป็นมหาอำนาจในทวีปเอเชียได้เผยแพร่ระบอบการปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ในประเทศต่างๆในภูมิภาคทวีปเอเชีย โดยการให้สนับสนุนทั้งทางด้านกำลังพลและกำลังอาวุธ ในการก่อความไม่สงบในประเทศขึ้น เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบประชาธิปไตยให้เป็นการปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประกอบด้วยประเทศ ไทย เวียดนาม กัมพูชา ลาว พม่า มาเลเซีย เป็นต้น เพื่อคานอำนาจกับกลุ่มประเทศมหาอำนาจทางตะวันตก ซึ่งมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีประเทศ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เป็นแกนนำ สถานการณ์การก่อความไม่สงบประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดังกล่าว ทำให้ประสบกับปัญหาความไม่มั่นคง ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองคล้ายๆกัน จนทำให้บางประเทศต้องเปลี่ยนแปลงการปกครองจาก ระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ในที่สุดในหลายประเทศ โดยใช้ยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ แบบโดมิโน่ (DOMINO)
ในประเทศไทย การเคลื่อนไหวและเผยแพร่ในระบอบคอมมิวนิสต์เกิดขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๐๘ และได้มีการจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)ขึ้น มีการเคลื่อนไหว
ปลุกระดม โฆษณาชวนเชื่อและใช้กองกำลังต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อการปฏิวัติล้มล้างรัฐบาล และให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
สถานการณ์การก่อความไม่สงบได้เพิ่มความรุนแรงและขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ มีการเคลื่อนไหวของผู้ก่อการร้ายและเกิดการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐเกือบทุกภูมิภาคของประเทศไทย เมื่อในปี พ,ศ.๒๕๐๘ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้เข้ามาเคลื่อนไหวในพื้นที่ภาคใต้ จุดแรกที่เข้ามาปฏิบัติการเคลื่อนไหวคือพื้นที่ บ้านส้อง ต.เวียงสระ ( ปัจจุบันคืออำเภอเวียงสระ) อ,อำเภอบ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี โดยมีการจัดตั้งกองกำลังผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) เข้ามาเคลื่อนไหว ปลุกระดม และโฆษณาชวนเชื่อ ให้ประชาชนในพื้นที่เกลียดชังเจ้าหน้าที่ของรัฐและรัฐบาล เพื่อดึงมวลชนเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และเป็นแนวร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในพื้นที่จังหวัดในภาคใต้ ในการปฏิบัติการ ดังกล่าว เจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับท้องถิ่นได้รับทราบ แต่ไม่สามารถเข้าดำเนินการป้องกันปราบปรามได้ เนื่องจากมีกำลังเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ
ต่อมากองบัญชาการตำรวจภูธร (ฝ่ายชายแดน) ได้มอบหมายให้ กองกำกับการตำรวจชายแดนเขต ๙ ซึ่งตั้งอยู่ที่ อ,เมือง จ,สงขลา จัดกำลังพล ๑ หมวด เข้ามาปฏิบัติในพื้นที่ ดังกล่าว เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น จึงได้ถอนกำลังพลส่วนนี้กลับ และเมื่อปรากฏข่าวการเคลื่อนไหวของผู้ก่อการร้ายในพื้นที่นี้อีกกองกำกับการตำรวจชายแดนเขต ๙ ก็ได้จัดกำลังพลเข้าปฏิบัติการในลักษณะเช่นนี้หลายครั้ง แต่ไม่สามารถป้องกันปราบปราบการปฏิบัติการเคลื่อนไหวของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ไว้ได้ และได้มีการเคลื่อนไหวในลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดใกล้เคียงอีกหลายจังหวัดเช่น จังหวัดนครศรีธรรมราช จ.พัทลุง และจ.ตรัง กอปรกับในขณะนั้น กองกำกับการตำรวจชายแดนเขต ๙ ปฏิบัติภารกิจหลักร่วมในพื้นที่ชายแดนประเทศไทย – ประเทศมาเลเซีย ในการปราบปรามโจรจีนคอมมิวนิสต์
วันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๐๙ ได้มีการประชุมด้านยุทธการของศูนย์ปฏิบัติการกองบัญชาการปราบปรามคอมมิวนิสต์ เพื่อหามาตรการในการป้องกันปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ในที่ประชุมมีมติให้ กองบัญชาการตำรวจภูธร (ฝ่ายชายแดน) ให้จัดตั้ง กองกำกับการตำรวจชายแดนเขต ๘ ขึ้น ในวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๐๙ โดยความเห็นชอบของกรมตำรวจ โดย พล.ต.ต. สุรพล จุลพราหมณ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจชายแดน (ขณะนั้น) ให้ใช้กองกำกับการโรงเรียนพลตำรวจภูธร ๘ ซึ่งตั้งอยู่ที่ บ.ไสใหญ่ ต.ถ้ำใหญ่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช เป็นที่ตั้ง กองกำกับการตำรวจชายแดนเขต ๘ มาจนถึงปัจจุบัน
อนึ่งพื้นที่ตั้งกองกำกับการตำรวจชายแดนเขต ๘ ตามประวัติ เป็นที่ดินของ กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ทรงใช้เป็นพื้นที่คุ้มครองสัตว์ป่า มีเนื้อที่ ๗๕๕ ไร่ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๒ กรมตำรวจได้ขอพระราชทานอนุญาตใช้เป็นที่ตั้งโรงเรียนตำรวจภูธร ๘ (ไม่ทราบวันเดือนปีในการจัดตั้ง) โดยได้ยุบเลิกในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ และทิ้งร้างไว้เป็นพื้นที่ราชพัสดุ อยู่ในความครอบครองของของกรมตำรวจ ปัจจุบันพื้นที่แปลงนี้บางส่วน มีส่วนราชการหลายหน่วยงานได้ขอเป็นที่ตั้งทำการหน่วย เช่น กองกำกับการ ๘ กองบังคับการฝึกพิเศษ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน โรงเรียนมหาราช ๓ โรงเรียนทุ่งสง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลถ้ำใหญ่ สำนักงานการประปาส่วนภูมิภาคทุ่งสง ศาลจังหวัดทุ่งสง สำนักงานอัยการ เป็นต้น คงเหลือที่ดินเป็นที่ตั้งของ กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ ๔๒ ค่ายศรีนครินทรา ในปัจจุบัน จำนวน ๓๐๐ ไร่
การจัดกำลังพลเข้าประจำการ กองกำกับการตำรวจชายแดนเขต ๘ ตามหนังสือลับมาก ของกรมตำรวจ ที่ ๑๗/๒๒๔ ลง ๒๙ มกราคม ๒๕๐๙ ลงนามโดย พล.ต.อ. ประเสริฐ รุจิระวงศ์ อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น ได้อนุญาตให้ กองบัญชาการตำรวจภูธร (ฝ่ายชายแดน) ดำเนินการเคลื่อนย้ายกำลังพลเข้าประจำการ กองกำกับการตำรวจชายแดนเขต ๘ บ,ไสใหญ่ ต.ถ้ำใหญ่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ตั้งแต่วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๐๙ และกองบัญชาการตำรวจภูธร (ฝ่ายชายแดน) มีคำสั่งที่
๘๖/๕๐๙ ลง ๑๗ สิงหาคม ๒๕๐๙ แต่งตั้งให้ พันตำรวจตรี วิชัย วิชัยธนพัฒน์ รองผู้กำกับการตำรวจชายแดนเขต ๙ มาดำรงตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจชายแดนเขต ๘ (เป็นผู้กำกับการตำรวจชายแดนเขต ๘ คนแรก) และเมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๐๙ พันตำรวจตรี วิชัย วิชัยธนพัฒน์ ได้นำกำล้งพลชุดแรกจาก กองกำกับการตำรวจชายแดนเขต ๙ จำนวน ๑๓๕ นาย เช้าที่ตัง กองกำกับการตำรวจชายแดนเขต ๘ และเริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา โดยขึ้นการบังคับบัญชากับ กองบัญชาการตำรวจภูธร (ฝ่ายชายแดน)
ต่อมาเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๐๙ กรมตำรวจได้มีคำสั่งแต่งตั้งข้าราชการตำรวจจากหน่วยต่างๆ ไปประจำที่ กองกำกับการตำรวจชายแดนเขต ๘ ตามคำสั่งกรมตำรวจที่ ๑๔๒/๒๕๐๙ ลงวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๐๙ จำนวน ๒๔๔ นาย ดังนี้
๑.กองกำกับการกำลังพลฝ่ายอำนวยการตำรวจภูธรชายแดน จำนวน ๓ นาย
๒.กองกำกับการส่งกำลังบำรุงฝ่ายอำนวยการตำรวจภูธรชายแดน จำนวน ๕ นาย
๓.กองกำกับการสนับสนุนทางอากาศฝ่ายสนับสนุนตำรวจภูธรชายแดน จำนวน ๑ นาย
๔.กองกำกับการสื่อสารฝ่ายสนับสนุนภูธรชายแดน จำนวน ๑ นาย
๕.กองกำกับการพลาธิการฝ่ายสนับสนุนตำรวจภูธรชายแดน จำนวน ๑ นาย
๖.กองกำกับการตำรวจชายแดนเขต ๒ จำนวน ๑๖ นาย
๗.กองกำกับการตำรวจชายแดนเขต ๓ จำนวน ๑๕ นาย
๘.กองกำกับการตำรวจชายแดนเขต ๔ จำนวน ๘ นาย
๙.กองกำกับการตำรวจชายแดนเขต ๕ จำนวน ๒๑นาย
๑๐.กองกำกับการตำรวจชายแดนเขต ๖ จำนวน ๒๒ นาย
๑๑.กองกำกับการตำรวจชายแดนเขต ๗ จำนวน ๑๔ นาย
๑๒,กองกำกับการตำรวจชายแดนเขต ๙ จำนวน ๑๓๖ นาย
กองกำกับการตำรวจชายแดนเขต ๘ มีพื้นที่รับผิดชอบ จำนวน ๗ จังหวัดคือ จังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร ระนอง พังงา กระบี่ ภูเก็ต ตรัง และจังหวัดพัทลุง ต่อมา พ.ต.ท. วิชัย วิชัยธนพัฒน์ ได้นำข้าราชการตำรวจทำการพัฒนาปรับปรุงอาคารสถานที่และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของ กองกำกับการโรงเรียนตำรวจภูธร ๘ ซึ่งได้ยุบเลิกในปี พ.ศ.๒๕๐๕ เพื่อใช้เป็นที่ตั้งของ กองกำกับการตำรวจชายแดนเขต ๘ อีกครั้ง และเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๑๐ พ.ต.ท. วิชัย วิชัยธนพัฒน์ ได้รับคำสั่งให้ไปดำรงตำแหน่ง ผู้กำกับการตำรวจชายแดนเขต ๙
วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๑๐ กรมตำรวจได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้ พันตำรวจโท พิชัย พุทธวัฒนะ มาดำรงตำแหน่ง ผู้กำกับการตำรวจชายแดนเขต ๘ เป็นคนที่ ๒ ได้มีการปรับปรุงพัฒนาหน่วยต่อเนื่อง ส่วนการป้องกันปราบปรามผู้ก่อการร้าย ก็ต้องดำเนินการต่อไปควบคู่กับการพัฒนา และได้จัดตั้งโรงเรียนตำรวจชายแดน ในเป็นพื้นที่แทรกซึมการเคลื่อนไหวของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ จำนวน ๒ โรงเรียน
เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2513 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง ทรงเยี่ยมกองกำกับการตำรวจชายแดน เขต 8 ด้วยทรงห่วงใยต่อสถานการณ์ในพื้นที่ ซึ่งพ.ต.ท. พิชัย พุทธวัฒนะ ได้กราบถวายบังคมทูลบรรยายสรุปสถานการณ์ในขณะนั้นให้ทรงทราบและ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานสิ่งของให้แก่ ราชการตำรวจชายแดนเขต 8 พร้อมทั้งพระราชทานสมุดหนังสือแก่นักเรียน โรงเรียนมหาราช 3 ในขณะนั้นด้วย พระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้าฯ ทั้งสองพระองค์ ในครั้งนี้ยังความซาบซึ้ง แก่ข้าราชตำรวจชายแดนเขต 8 และประชาชน ในพื้นที่ เป็นอย่างยิ่ง
ต่อมาเมื่อ 1 มิถุนายน 2513 พ.ต.ท.พิชัย พุทธวัฒนะ ได้รับการเลื่อนยศและได้รับการแต่งตั้งขึ้นเป็น รองผู้บังคับการตำรวจภูธร 8 และกรมตำรวจได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้ พ.ต.ท. วิภาส วิปุลากรรองผู้กำกับการตำรวจชายแดนเขต ๙ มาดำรงตำแหน่ง ผู้กำกับการตำรวจชายแดนเขต ๘ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2513 ในปีนี้ กองกำกับการตำรวจชายแดนเขต 8 ได้มอบพื้นที่ จังหวัดพัทลุง และตรัง ให้กับกองกำกับการตำรวจชายแดนเขต 9 รับผิดชอบเหมือนเดิม ซึ่งยังคงเหลือพื้นที่รับผิดชอบของ กองกำกับการตำรวจชายแดน เขต 8 เพียง 7 จังหวัด คือ จังหวัด นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร ระนอง กระบี่ พังงา และจังหวัดภูเก็ต พันตำรวจโท วิภาส วิปุลากร ได้พัฒนาอาคารสถานที่ และก่อสร้างอาคารที่ทำการ กองกำกับการตำรวจชายแดนเขต ๘ และอาคารประกอบอีกหลายหลัง เช่น อาคารห้องประชุมยุทธการ อาคารบ้านพักของข้าราชการตำรวจ เพื่อความสะดวก เหมาะสมในการใช้ปฏิบัติงาน ตลอดถึงสภาพแวดล้อมโดยทั่วไป
ด้านกำลังพลได้มีกำลังพลเพิ่มขึ้น ฝึกอบรมพัฒนากำลังพล โดยกรมตำรวจได้เปิดรับสมัครบุคคลภายนอกเป็นข้าราชการตำรวจตระเวนชายแดนขึ้น โดยดำเนินการฝึกอบรมขึ้นใน กองกำกับการตำรวจชายแดนเขต ๘ จำนวน ๔ รุ่น คือ
– ปี พ.ศ.๒๕๑๔ ฝึกอบรม จำนวน ๒๐๙ นาย (รุ่น ๒๐๙)
– ปี พ.ศ.๒๕๑๕ ฝึกอบรม จำนวน ๓๑๗ นาย (รุ่น ๓๑๗)
– ปี พ.ศ.๒๕๑๖ ฝึกอบรม จำนวน ๒๔๐ นาย (รุ่น ๒๔๐)
– ปี พ.ศ.๒๕๑๗ ฝึกอบรม จำนวน ๒๒๕ นาย (รุ่น ๒๒๕)
ตลอดถึงพัฒนาประสิทธิภาพกำลังพลในหลักสูตร ต่างๆ พัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ให้มีประสิทธิภาพและทันสมัยยิ่งขึ้น ส่วนทางด้านการพัฒนา ได้จัดตั้งโรงเรียนไกลคมนาคมในถิ่นทุรกันดาร ซึ่งเป็นพื้นที่ล่อแหลมต่อการแทรกซึมของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์เพิ่มขึ้นอีก ๖ โรงเรียน นอกจากนี้ พ.ต.ท.วิภาส วิปุลากร ยังเป็นผู้เริ่มต้นนำกิจการลูกเสือชาวบ้าน และได้จัดตั้งหมู่บ้านต่อต้านคอมมิวนิสต์ “หมู่บ้านบางระจัน ๒ “ ขึ้นที่ บ.สวนอ้ายเลา ต.ควนเกย อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช เพื่อเป็นพลังมวลชนต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ควบคู่กับการปฏิบัติงานของตำรวจชายแดน ซึ่งสถานการณ์การก่อการร้ายของพรรคคอมมิวนิสต์ในระยะนี้มีความรุนแรงเกือบทุกพื้นที่ มีการบุกโจมตีสถานีตำรวจภูธร ฐานปฏิบัติการอาสาสมัครรักษาดินแดนหลายแห่ง ตลอดถึงการลอบซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่ของรัฐหน่วยต่างๆ รวมทั้งตำรวจชายแดนเขต ๘ ซึ่งได้มีการปะทะต่อสู้ และเข้าโจมตียึดฐานปฏิบัติการของผู้ก่อการร้ายได้หลายแห่ง ยังความบาดเจ็บสูญเสียทั้งสองฝ่าย แม้บางครั้งฝ่ายตำรวจชายแดน ต้องมีการบาดเจ็บและเสียชีวิตในขณะปฏิบัติหน้าที่บ้าง ก็ไม่ได้ทำให้ขวัญกำลังใจลดน้อยถอยลง ตำรวจชายแดนทุกคนยังคงมุ่งมั่น ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ด้วยความ เสียสละ อดทน และมีอุดมการณ์ อันแน่วแน่เสมอมา
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระราชทานนาม “ค่ายศรีนครินทรา”
เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๑๔ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จพระราชดำเนินปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่ จังหวัดพังงา พ.ต.ท. วิภาส วิปุลากร ได้เข้าเฝ้าฯ และกราบบังคมทูลขอพระราชาอนุญาตใช้พระนาม สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นชื่อค่าย กองกำกับการตำรวจชายแดนเขต ๘ เพื่อเป็นศูนย์รวมใจของข้าราชการตำรวจ ซึ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีรับสั่งว่า “ ถ้าชื่อฉันทำให้คนรักสามัคคีกันได้ฉันก็ยินดี ” โดยได้พระราชทานอนุญาตให้ใช้พระนามาภิไธย “ศรีนครินทรา” เป็นชื่อค่าย กองกำกับการตำรวจชายแดนเขต ๘ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ หลังจากนั้นกองกำกับการตำรวจชายแดนเขต ๘ ได้ดำเนินก่อสร้างป้ายชื่อ” ค่ายศรีนครินทรา” ขึ้นบริเวณประตูทางเข้า กองกำกับการฯ แล้วเสร็จประมาณกลางปี พ.ศ.๒๕๑๕ และต่อมาได้มีประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๓๐ ลงวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๑๕ ให้จัดตั้ง กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ขึ้นมาเป็นเป็นครั้งที่ ๒ หลังจากได้ถูกยุบเลิกไปเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๓ กองกำกับการตำรวจชายแดนเขต ๘ เปลี่ยนเป็น กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนเขต ๘ และเปลี่ยนชื่ออักษรย่อ ชด. เป็น ตชด. และปรับเปลี่ยนโตรงสร้างการบริหารจัดการหน่วย ครั้งที่ ๓ โดยจัดให้มี ฝ่ายอำนวยการออกเป็น ๙ แผนก และกองร้อยปฏิบัติการ ๙ กองร้อย หลังจากได้ดำเนินการก่อสร้างป้ายชื่อ “ค่ายศรีนครินทรา” เสร็จเรียบร้อยแล้ว วันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ.๒๕๑๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดป้าย “ค่ายศรีนครินทรา” และ สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี โดยเสด็จทรงร่วมประกอบพิธีเปิดค่ายในครั้งนี้ด้วย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ นับเป็นสิริมงคลและเป็นเกียรติประวัติแก่ชาวค่ายศรีนครินทราเป็นอย่างยิ่ง กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนเขต ๘ จึงถือเอาวันที่ ๒๕ กันยายน ของทุกปีเป็นวัน “ค่ายศรีนครินทรา” สืบมา
ในสมัย พ.ต.อ. สุเทพ สุขสงวน ดำรงตำแหน่ง ผู้กับกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนเขต ๘ วันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๗ – วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๓๐ มีเหตุการณ์สำคัญ กล่าวคือ ได้มีพระราชกฤษฎีกา แบ่งส่วนราชการ กรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ ๑๔ พุทธศักราช ๒๕๒๙ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ หน้าที่ ๕ เล่มที่ ๑๐๓ ตอนที่ ๑๗๖ ลงวันที่๑๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๙ โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ ๑๒ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๒๙ ให้ กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนเขต ๘ แบ่งส่วนราชการการออกเป็น ๒ ส่วน โดยจัดตั้งเป็น ๒ กองกำกับการคือ กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ ๔๑ ตั้งอยู่ที่ ต.ขุนกระทิง อ.เมือง จ.ชุมพร มีพื้นที่ในความรับผิดชอบ จำนวน ๓ จังหวัด คือ จังหวัดชุมพร ระนอง และจังหวัดสุราษฎร์ธานี และกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ ๔๒ ให้ตั้งอยู่ที่ กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนเขต ๘ ค่ายศรีนครินทรา อย่างเดิม มีพื้นที่รับผิดชอบ จำนวน ๔ จังหวัด คือ จังหวัดนครศรีธรรมราช กระบี่ พังงา และ จังหวัดภูเก็ต